ประวัติโรงเรียน

                ประวัติโรงเรียนบ้านอ้อมกอ “ประชาสามัคคี”
         โรงเรียนนี้ตั้งขึ้นเมื่อวันที่ 4 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2468 นายอำเภอจัดตั้งชื่อว่า “ โรงเรียนประชาบาลตำบลดงเย็นหนึ่ง ศาลาวัดบ้านอ้อมกอ” มีหมู่บ้านดงเย็น,บ้านป่าเป้าบ้าน,โคกคำไหล,บ้านไผ่ล้อมและบ้านอ้อมกอ ส่งบุตรหลานเข้ามาเรียนเมื่อวันที่ 28 พฤษภาคม พ.ศ. 2474 หมู่บ้านดงเย็น,บ้านป่าเป้า เลิกส่งบุตรหลานมาเข้าเรียน เนื่องจากแบ่งเขตการปกครองและต่างก็ตั้งโรงเรียนในหมู่บ้านของตนเอง
         เมื่อวันที่ 28 มิถุนายน พ.ศ. 2494 โรงเรียนได้ย้ายสถานที่เรียนไปที่อาคารเรียนหลังใหม่ที่สร้างขึ้นใหม่ที่กลางดง (ตรงสามแยกไปบ้านโคกคำไหลและบ้านไผ่ล้อม) และตั้งชื่อโรงเรียนใหม่ว่า “โรงเรียนบ้านอ้อมกอประชาสามัคคี” โดยมีหมู่บ้านโคกคำไหล,บ้านไผ่ล้อมและบ้านอ้อมกอ ส่งบุตรหลานเข้ามาเรียน
         เมื่อ พ.ศ. 2510 หมู่บ้านทั้งสาม ได้แยกย้ายไปตั้งโรงเรียนขึ้นใหม่ในหมู่บ้านของตนส่วนบ้านอ้อมกอได้ย้ายมาเรียนที่ อาคารศูนย์พัฒนาหมู่บ้านอ้อมกอ และบริเวณที่ตั้งโรงเรียนในปัจจุบัน ในลำดับต่อมาได้สร้างอาคารเรียน 1 แบบ ป.3 พิเศษ ขนาด 1 ชั้น 4 ห้องเรียน
   การจัดการศึกษา
         ปีการศึกษา  2515 เปิดขยายระดับประถมศึกษาตอนปลาย ชั้นประถมศึกษาปีที่ 5,6,7 ในปีการศึกษา 2516,2517ตามลำดับ
         ปีการศึกษา  2521 ได้ปรับเปลี่ยนการใช้หลักสูตร 2503 เป็นหลักสูตร พุทธศักราช 2521 ในชั้นประถมศึกษาปีที่ 1 พร้อมยกเลิกชั้นประถมศึกษาปีที่ 7
         ปีการศึกษา 2525  เปิดขยายชั้นเรียนเด็กเล็ก  1 ชั้น
         ปีการศึกษา 2533 นำร่องการใช้หลักสูตรฉบับปรับปรุง 2533 พร้อมกันครบ 6 ชั้นเรียน (ป.1-ป.6)
         ปีการศึกษา 2535 เปิดขยายการศึกษาระดับมัธยมศึกษาตอนต้น (ม.1-ม.3)
         ปีการศึกษา 2538  เปิดขยายชั้นเรียน  อนุบาล 1 - 2  และยกเลิกชั้นเรียน เด็กเล็ก  โดยจัดการศึกษาตั้งแต่ชั้น อนุบาลปีที่ 1- ชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 3 จนถึงปัจจุบัน
  สภาพทางภูมิศาสตร์
         โรงเรียนบ้านอ้อมกอประชาสามัคคี มีพื้นที่ประมาณ 41 ไร่  พื้นที่ส่วนใหญ่เป็นที่ราบและที่ราบลุ่ม ตั้งอยู่ทางทิศตะวันออกเฉียงเหนือของจังหวัดอุดรธานีและทิศเหนือของสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาอุดรธานี เขต 3 มีชุมชนในเขตบริการของโรงเรียนคือ บ้านอ้อมกอ หมู่ที่ 1 บ้านศรีเจริญ หมู่ที่ 6 บ้านไผ่ล้อม หมู่ที่ 4 บ้านโนนสมบัติ หมู่ที่ 7 และบ้านโคกคำไหล หมู่ที่ 3 ตำบลอ้อมกอ อำเภอบ้านดุง มีระยะทางห่างจากจังหวัดอุดรธานี 82 กิโลเมตร และห่างจากสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาอุดรธานี เขต 3 ประมาณ 46 กิโลเมตร ห่างจากกรุงเทพมหานครฯ ประมาณ 645 กิโลเมตร มีอาณาเขตติดต่อ ดังนี้
                ทิศเหนือ              ติดต่อกับตำบลบ้านตาดและตำบลโพนสูง อำเภอบ้านดุง
                ทิศใต้                  ติดต่อกับบ้านโคกคำไหล ต.อ้อมกอ และบ้านนาดินจี่อ.สว่างแดนดิน  จ.สกลนคร
                ทิศตะวันออก       ติดต่อกับบ้านดงดารา ตำบลอ้อมกอและตำบลดงเย็น
                ทิศตะวันตก         ติดต่อกับบ้านโนนสมบัติและบ้านโนนสมบูรณ์ ตำบลอ้อมกอ
                ประชากร โรงเรียนบ้านอ้อมกอประชาสามัคคี มีประชากรในเขตบริการของโรงเรียนประมาณ 1,851 คน ส่วนใหญ่นับถือศาสนาพุทธและประกอบอาชีพเกษตรกรรมทำนาข้าว ทำไร่อ้อย ยางพารา เลี้ยงสัตว์และอุตสาหกรรมในครัวเรือน เช่น การถักทอไหมพรม ประชากรมีรายได้เฉลี่ยต่อปีประมาณ 20,000 บาท
                การคมนาคม มีทางหลวงหมายเลข 2096 และทางหลวงหมายเลข 2270 เชื่อมต่อกับสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาอุดรธานี เขต 3 และอำเภอบ้านดุง จังหวัดอุดรธานี
                การปกครอง โรงเรียนบ้านอ้อมกอประชาสามัคคี มีเขตการปกครองใน  3  หมู่บ้าน คือ บ้านอ้อมกอ หมู่ที่ 1 บ้านศรีเจริญ หมู่ที่ 6 และบ้านโนนศรีทอง หมู่ที่ 10  ตำบลอ้อมกอ อำเภอบ้านดุง จังหวัดอุดรธานี
                ทรัพยากร   พื้นที่ส่วนใหญ่ของบ้านอ้อมกอ   ศรีเจริญ   และโนนศรีทอง   เป็นดินร่วน ดินเหนียวปนทราย มีความเป็นกรดแก่ ความอุดมสมบูรณ์ของดินค่อนข้างต่ำ การเพาะปลูกต้องใช้น้ำมากและจะแห้งแล้งในช่วงฤดูแล้ง  ลักษณะดังกล่าวจึงเหมาะแก่การทำนาข้าว   เพาะปลูกพืชไร่       
               สังคมและวัฒนธรรม สถาบันครอบครัวและชุมชนยังไม่มีความเข้มแข็งพอ ประชากรส่วนใหญ่ยังหลงใหลในวัตถุนิยม เยาวชนส่วนใหญ่มีความนิยมวัฒนธรรมต่างชาติเกิดลัทธิเอาอย่างส่วนในด้านวัฒนธรรมส่วนใหญ่ยังยึดถือประเพณีวัฒนธรรมของทางภาคอีสาน คือถือ ฮีตสิบสอง คองสิบสี่ มีการปรับและตัดทอนพิธีกรรมบางส่วนออกเพื่อปรับตามสภาพขนบธรรมเนียมประเพณี เช่น การกิน การแต่งการ กิริยามรรยาท ในเขตบริการของโรงเรียนมีมรดกล้ำค่าคือ วนอุทยานอ้อมฤดี มีหินโบราณ อายุ 3,000 ปี บ่อน้ำดื่มธรรมชาติเกิดจากใต้แผ่นดิน ประชาชนใช้ดื่มกินกันมาช้านานไม่เคยหมด ที่สำคัญคือ ไม่ต้องพึ่งพาพลังงานไฟฟ้าฟ้าหรือพลังงานอื่นใดมาใช้ในการส่งน้ำขึ้นมาใช้ เพียงแต่ขุดบ่อลงไปประมาณ 6 เมตร แล้วต่อท่อน้ำประปาเข้ามาในหมู่บ้าน น้ำก็จะไหลมาเองตามธรรมชาติ นับว่าเป็นสิ่งมหัศจรรย์อย่างหนึ่งของชุมชน

Free Web Hosting